Blogs & Articles

Keyword คือ ? ทำไมถึงสำคัญกับการใช้ Social Listening Tool

social listening tools

สวัสดีครับวันนี้ทางทีมงาน Mandala AI จะมาแนะนำพื้นฐานการใช้งาน Social Listening Tool ที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ การใส่ Keyword เพื่อให้ระบบนั้นไปค้นหาข้อมูลตามคำที่เราได้กำหนดไว้ ปัจจุบันผมสังเกตว่านักการตลาดออนไลน์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการนำ Social Media Data มาใช้กับการทำการตลาดออนไลน์ แต่ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับ Data ที่ออกมามากกว่าต้นทาง 

ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีครับที่ผมจะขอใช้พื้นที่ในบทความนี้ เพื่อเป็นคู่มือสั้น ๆ ให้ผู้ใช้งาน Mandala Analytics และผู้สนใจทุกท่านสามารถนำไปใช้งานได้จริงครับ


เนื้อหาบทความ


Keyword คืออะไร?



Keyword (คีย์เวิร์ด) คือ คำที่ใช้สำหรับการค้นหาใน Search Engine เช่น หัวข้อที่คุณสนใจ, สิ่งที่คุณอยากรู้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบประโยค หรือ คำเฉพาะ เป็นต้น บางครั้ง Keyword อาจมาในรูปแบบของคำแสลง หรือเป็นในรูปแบบของวลีก็ได้เช่นกัน


ผมขออธิบายก่อนครับว่าหลักการทำงานในการป้อน Keyword ลงใน Social Listening Tool กับ Search Engine นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ผมขอเริ่มอธิบายด้วย Search Engine ก่อนนะครับเพราะว่าส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว


Search Engine คือ โปรแกรมที่ช่วยในการสืบหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ถ้าที่เรารู้จักกันก็คือ Google Yahoo Bing เป็นต้น

Social Listening Tool คือ โปรแกรมที่ช่วยในการดูข้อมูลเรื่องราวที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ


แม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ การหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แต่จุดต่างคือ Data หรือข้อมูลที่จะปรากฏนี่แหละครับ สมมติผมใส่คำว่า “ระยอง” เข้าไปทั้งสองโปรแกรมข้อมูลที่ได้จาก Search Engine จะออกมาทำนองเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ลักษณะทางกายภาพ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ของจังหวัดระยอง แต่หากเอาคำเดียวกันไปใส่ใน Social Listening Tool ข้อมูลที่ออกมาจะทำนองว่า มีใครบนโลกออนไลน์พูดถึงคำว่าระยองเท่าไหร่ ยอดปฏิสัมพันธ์ (Engagement) มากน้อยเท่าไหร่ มีเนื้อความอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนผมอยากให้ลองพิจารณาสองรูปต่อไปนี้ครับ


ผลการค้นหาคำว่า “ระยอง” ด้วย Google


ผลการค้นหาคำว่า “ระยอง” ด้วย Mandala Analytics


จากทั้งสองภาพจะเห็นว่าผลที่ได้จากคำเดียวกันนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยข้อมูลจาก Google เราจะได้ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว ในขณะที่ข้อมูลจาก Mandala Analytics เราจะได้ข้อมูลว่าในโลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือ YouTube นั้นมีการพูดถึงคำ ๆ นี้อย่างไรบ้าง จะเห็นว่าเราจะได้ข้อมูลที่ค่อนข้างสารพัดกว่า Google ไม่ว่าจะเป็นข่าวคนระยองถูกรางวัลที่ 1 หรือข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ระยอง


ผมขอเสริมอีกนิดนึงครับว่าแม้เราจะสะกดคำว่าระยองผิด เช่น สะกดเป็น “ละยอง” Search Engine จะยังสามารถเดาได้ว่าเราต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดระยอง แต่หากเป็น Social Listening Tool ข้อมูลนั้นจะตรงไปตรงมาเลยครับว่า เราจะได้ข้อมูลที่มีคนพิมพ์คำว่าละยองแทน


อธิบายความแตกต่างมาเสียยืดยาวผมคาดว่าผู้อ่านคงพอเห็นความแตกต่างของการทำงานทั้งสองโปรแกรมแล้วนะครับ ฉะนั้น การใส่คำหรือ Keyword บน Social Listening Tool เราจึงต้องอาศัยความประณีต และค่อนข้างให้ความสำคัญพอสมควร โดยต่อไปผมจะกล่าวถึงชนิดของ Keyword ที่จำเป็นต้องรู้ และวิธีการหลัก ๆ ที่ทำให้เราได้ข้อมูลจาก Social Listening Tool อย่างมีประสิทธิภาพครับ



ชนิดของ Keyword

ก่อนอื่นเลยเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าชนิดของ Keyword ที่เราเลือกมานั้นเป็นในรูปแบบไหน และเราได้เลือกชนิดของ Keyword มาครบถ้วนตามที่เราต้องการแล้วหรือยัง ผมขอแบ่งชนิด Keyword หลัก ๆ มา 3 ชนิด คือ

Mass Keyword

Mass Keyword คือ คีย์เวิร์ดที่มียอดการค้นหาสูง เป็นคำที่ไม่เฉพาะจง และเป็นคำกว้าง ๆ สำหรับใช้ค้นหาสิ่งของ หรือสินค้าแต่ละประเภท เช่น ถ้าหากคนต้องการที่จะค้นหาอาหารหมา คำแรกที่คนนึกถึงคือ อาหารหมา เนื่องจากเป็นคำกว้าง ๆ คีย์เวิร์ดประเภทนี้มัก มี Search Volume ที่สูง และมีคู่แข่งเยอะ เพราะไม่ว่าแบรนด์ไหนก็มักอยากให้เเบรนด์ของตัวเอง มีคนเห็นสินค้าของตัวเองในคีย์เวิร์ดนั้น 

Nich Keyword

Nich Keyword คือ คีย์เวิร์ดที่มักเป็นที่นิยมใช้ ถ้าหากคุณเป็นแบรนด์ขนาดกลาง และแบรนด์ขนาดเล็ก โดย ? Nich Keyword เป็น Keyword เฉพาะแบรนด์ หรือ Keyword ที่เฉพาะเจาะจง เช่น อาหารหมา หากต้องหา Nich Keyword เกี่ยวกับกับอาหารหมา คุณอาจจะใช้คำว่า อาหารหมาโกลเด้น, อาหารหมาปอม เป็นต้น

Long Tail Keyword

Long Tail Keyword คือคีย์เวิร์ดความเฉพาะเจาะจงที่สุด มีรายละเอียดของสินค้าที่ชัดเจน เป็นกลุ่มคำที่มียอด Search Volume ค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นคำเฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่างเช่น ต้องการหาอาหารหมา คนมักจะเลือกใช้คำว่า อาหารหมาโกลเด้นที่มีประโยชน์, แนะนำอาหารหมาโกลเด้น เป็นต้น


ลักษณะ Keyword ที่มีคุณภาพ

การที่จะได้ Keyword ที่มีคุณภาพนั้นต้องเลือกลักษณะของ Keyword ตรงตามความต้องการของลูกค้า หรือ Keyword ที่คนมักใช้ในการค้นหา ไม่ว่าจะเป็น Keyword ที่เป็นคำแสลง หรือ Keyword ที่เป็นไวรัล บนโลกโซเชียลมีเดีย มักเป็น Keyword ที่มีคุณภาพ เนื่องจาก Keyword นั้นคือ Keyword ที่ลูกค้าใช้ในการค้นหาสิ่งที่อยากรู้ หรือ ใช้สำหรับบ่นสินค้า เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากคุณเลือก Keyword ที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ การผลการค้นหาของคุณก็จะมีประสิทธิภาพตามเช่นกัน


วิธีการให้ได้ Keyword เพื่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ



เทคนิคต่อไปนี้ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่ามาจากประสบการณ์ส่วนตัวในการคลุกคลีอยู่กับการใช้งาน Social Listening Tool พอสมควร ผมขอแบ่งวิธีการออกเป็น 3 วิธีดังนี้ครับ


1. คิดเอง/ตามวัตถุประสงค์: วิธีการที่เบสิกที่สุดแต่ก็ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกันถ้าเรามีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการนำ Social Media Data ไปใช้งานอย่างไรก็ให้ตั้ง Keyword แบบนั้นเลยครับ เช่น ผู้อ่านอาจมีชื่อแบรนด์/องค์กรที่ต้องนำ Data มาใช้เพื่อติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับภาพลักษณ์ก็ใส่ชื่อองค์กร/แบรนด์ตรง ๆ ได้เลย หรือหากผู้อ่านเป็นนักการตลาดออนไลน์ที่เพิ่งปล่อยแคมเปญหรือกิจกรรม แล้วกิจกรรมนั้นมี # (Hashtag) สำหรับกิจกรรมก็สามารถใส่ # เข้าไปเลย เพื่อติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น


ในอีกทางหนึ่งเราสามารถใส่สินค้า/บริการที่ต้องติดตามก็ได้เช่นเดียวกันครับ เช่น เราสนใจว่าปัจจุบันกระแสไก่ทอดร้านไหนมาแรง หรือมีรูปแบบใดที่กำลังได้รับความนิยม เราก็สามารถใส่คำว่า “ไก่ทอด” เข้าไปได้เลยเช่นเดียวกันครับ 


2. ใช้ Google Trends: วิธีการนี้ผมคิดว่าเหมาะสำหรับคนที่มีเป้าหมายหรืออะไรบางอย่างในใจอยู่แล้วว่าต้องการนำ Data ไปใช้อย่างไรบ้าง เช่น เราอาจกำลังสนใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลก็อาจจะเริ่มด้วยการใส่คำว่า “คริปโต” ใน Google Trends มาดูผลลัพธ์กันครับว่าสิ่งที่แนะนำมาเรานำมาใช้อะไรได้บ้าง


 ผลการค้นหาคำว่า “คริปโต” ด้วย Google Trends


จากภาพจะเห็นได้ว่า เราพบทั้งแพลตฟอร์มที่ใช้ในการเทรดกับสกุลเหรียญที่กำลังมาแรงหรือก็คือกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุน เราก็สามารถนำเอาคำเหล่านี้ไปใส่ใน Social Listening Tool เพื่อเป็นสารตั้งต้นก็ได้เช่นเดียวกันครับ


3. ใช้โปรแกรมแนะนำคำโปรแกรมอื่น: วิธีการนี้จะคล้ายคลึงกับการใช้งาน Google Trends เลยครับ แต่บางโปรแกรมเราอาจจะต้องเสียเงินซักเล็กน้อยเพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ ตัวอย่างที่ผมยกมานั้นชื่อโปรแกรม Keywordtool.io มาดูกันครับว่าคำค้นหาเดียวกันคือ “คริปโต” เราจะได้ผลลัพธ์อย่างไร


ผลการค้นหาคำว่า “คริปโต” ด้วย Keywordtool.io


จากภาพเป็นหน้าตาของ Keywordtool.io ครับ เราจะเห็นว่าหน้าตาค่อนข้างละเอียดกว่า Google Trends (เงินมาของไปอะครับพูดง่าย ๆ เลย) ถึงแม้มันจะแสดงอย่างละเอียดที่เราอาจจะนำไปต่อยอดใน Social Listening Tool ได้มากมาย แต่ผมมองว่าข้อเสียมันก็มีอยู่นะครับคือ ด้วยความที่มันเยอะมากก็ส่งผลให้เราเลือกไม่ถูกเหมือนกันว่าจะเอาอะไรมาใช้ดี ผมแนะนำว่าวิธีนี้อาจจะต้องเป็นคนที่คุ้นชินกับการใช้งานพอสมควรครับ


การระบุ Keyword ให้เฉพาะเจาะจงเพื่อ Data ที่ชัดเจน



ในหัวข้อที่แล้วผมแสดงวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้มาซึ่ง Keyword ที่เราต้องการแล้วนั้น ในหัวข้อนี้ผมจะเผยอีกเทคนิคที่ทำให้ Data ของเราตรง ชัด และกระชับครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อย่อยคือ 1) การระบุด้วยการเพิ่ม Keyword และ 2) การระบุด้วยการลด Keyword ทั้งนี้ ทุกวิธีการจะเป็นการต่อยอดหรือหลังจากที่เราได้ Keyword ไม่ว่าจะมาจากวิธีการใดก็แล้วแต่ตามที่ผมได้เสนอไว้แล้วครับ


1. การระบุด้วยการเพิ่ม Keyword: วิธีการนี้คือใส่เครื่องหมายบวก (+) เพื่อขยาย Keyword หลักของเรา เช่น เรากำลังสนใจอุตสาหกรรมรองเท้าแน่นอนครับว่าคำหลักที่เราต้องใส่เลยคือ “รองเท้า” แต่อย่าลืมนะครับว่าคำว่ารองเท้าวัน ๆ นึงนี่มีคนพิมพ์ในโลกออนไลน์เยอะแยะแน่นอน มากไปกว่านี้รองเท้าในโลกเราก็ไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว มีทั้งรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าส้นสูง นี่จึงเป็นที่มาของคำแนะนำข้อนี้ครับว่า ให้เราใส่ + เพื่อระบุครับว่า รองเท้าที่เราต้องการดูข้อมูลนั้นเป็นรองเท้าประเภทอะไร เพื่อใคร โดยผมอยากให้ดูจากตัวอย่างภาพประกอบต่อไปนี้ครับ


ตัวอย่างการใส่ Keyword เพื่อระบุ Data ให้ชัดเจน


จากภาพจะเห็นว่าผมระบุว่าต้องการข้อมูลรองเท้าที่แยกเพศชัดเจนระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ผมจึงใส่เครื่องหมาย + หลังคำว่ารองเท้าและรองเท้าแตะ แล้วตามด้วยคำขยายก็คือ “ผู้ชาย” และ “ผู้หญิง” 


นอกจากนี้ การใช้ + นั้นนอกจากจะระบุเพื่อความชัดเจนแล้วนั้นยังสามารถขจัดความคลุมเครือออกไปได้ด้วย ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือคำว่า “ครีม” ผมไม่แน่ใจว่าพอได้ยินคำนี้ผู้อ่านคิดถึงอะไรบ้าง อาจจะคิดถึงครีมบำรุงผิวกาย หรือบางคนอาจจะนึกถึงครีมที่เป็นอุปกรณ์ช่าง การใช้เครื่องหมาย + จึงเป็นอีกวิธีที่ทำให้คำว่าครีมของเรานั้นมันชัดเจนยิ่งขึ้นครับว่า ครีมที่เราต้องการคือครีมอะไร


2. การระบุด้วยการลด Keyword: วิธีการนี้จะแตกต่างจากการใส่เครื่องหมาย + เล็กน้อยครับ โดย Mandala Analytics จะมีคำสั่งให้เราระบุตั้งแต่ตอนตั้งแคมเปญชื่อว่า “Excluded Keywords” คำสั่งนี้จะเป็นการสั่งไปที่โปรแกรมว่า Data ที่กำลังจะไปเก็บต่อไปนี้ถึงแม้จะมีเนื้อหาที่ตรงกับ Keyword ที่เราใส่ไป แต่ถ้ามีคำต่อไปนี้ไม่ต้องเก็บเข้ามา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เราไม่อยากได้เนื้อหาที่มีคำเหล่านี้นั่นเอง ตัวอย่างที่ผมมักยกมาประจำคือ สมมติว่าผมกำลังสนใจบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ว่าของธนาคารใดกำลังมาแรง คำที่ผมต้องใส่แน่นอนเลยคือ “บัญชีออมทรัพย์” แต่สิ่งที่ผมเจอมาคือเรามักจะติดเนื้อหาเกี่ยวกับเชิญชวนทำบุญ บริจาค หรือกระทั่งร้านค้าออนไลน์ที่มักจะระบุเลขที่บัญชีและประเภทบัญชี สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมในการทำข้อมูลมาใช้ในครั้งนี้ ฉะนั้น ผมต้องเอามันออกไปตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ โดยผู้อ่านสามารถดูได้จากตัวอย่างดังนี้ครับ


ตัวอย่างการใช้งานคำสั่ง Excluded Keywords


จากภาพจะเห็นว่าผมได้ Exclude คำที่เกี่ยวข้องกับการเชิญชวนทำบุญ (ที่ผมคาดว่าจะมาแน่นอน) กับคำที่เกี่ยวข้องกับการ Live ขายขายออนไลน์ แน่นอนว่าคำที่ผมเอาออกไปนั้นอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมดแน่นอน แต่นี่ก็สามารถช่วยเราได้มากในการทำงานกับข้อมูลต่อไป และยิ่งเราคลุกคลีมาก ๆ เราจะยิ่งรู้ล่วงหน้าหรือคาดเดาได้เลยครับว่า หากเราใส่ Keyword อะไรไปจะได้อะไรออกมาบ้าง ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ความสม่ำเสมอในการใช้งานครับ


ในอีกกรณีคือ จากตัวอย่างที่ผมยกเรื่องครีมไปแล้วนั้นเราสามารถประยุกต์มาใช้กับวิธีการนี้ได้เช่นเดียวกันครับ โดยเราอาจจะใส่คำว่า “เครื่องมือช่าง” “งานก่อสร้าง” แทน หากเราต้องการดูเกี่ยวกับครีมที่ใช้ประทินผิวนั่นเองครับ


การใส่ Keyword ควรคำนึงให้รอบด้าน


ในหัวข้อนี้เป็นอีกเทคนิคที่สำคัญไม่แพ้กันครับ โดยผมอยากเริ่มอย่างนี้ว่าภาษาไทยนั้นโดยธรรมชาติของภาษาค่อนข้างซับซ้อน และเรามีคำกำกวมเยอะมาก นี่ไม่รวมคำที่เรามักชอบสะกดผิดกันอีกนะครับ ฉะนั้น ผมอยากจะขอแนะนำ 2 ประเด็นครับ


1. อย่าละเลยคำแสลง: คำแสลงคือคำที่มักแผลงหรือใช้เรียกอ้อม ๆ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกออนไลน์ที่จะมีคนส่วนหนึ่งไม่ใช้คำที่สื่อสารตรงไปตรงมา ผมขอยกตัวอย่างครับว่า ธนาคารแห่งหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้กันมากมีสีประจำธนาคารคือสีเขียว ผมเดาเลยครับว่าไม่มีใครพิมพ์ชื่อธนาคารนี้ตรงไปตรงมาถ้าไม่ใช่มาจาก Official ของทางธนาคาร หรือเนื้อหาจากสำนักข่าว คำแสลงที่จะกล่าวถึงธนาคารแห่งก็เช่น “ธนาคารสีเขียว” โดยคำพวกนี้เราก็สามารถนำไปใส่ในโปรแกรมได้เช่นเดียวกันครับ เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล


2. อย่าละเลยคำที่สะกดผิด: คำที่สะกดผิดในภาษาไทยนั้นจากการสังเกตส่วนตัวมักจะมี 3 ประเภทครับ 1) คำภาษาไทยเอง เช่น “นะคะ” สะกดเป็น “นะค่ะ” “อนุญาต” สะกดเป็น “อนญาติ” 2) คำที่เลียนเสียงภาษาอังกฤษ เช่น “โรแมนติก” สะกดเป็น “โรแมนติค” “เกม” สะกดเป็น “เกมส์” และ 3) คำที่เป็นชื่อแบรนด์ เช่น “แอร์เอเชีย” สะกดเป็น “แอร์เอเซีย” การสะกดผิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามเลยครับ โดยตามความเห็นของผมเราควรจะเผื่อเล็กน้อยในการใส่ Keyword ที่มีการสะกดผิดเหล่านี้เข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้เราพลาดข้อมูลอะไรบางอย่างไปครับ



เทคนิคอื่น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม



จากที่ผมแนะนำเรื่องการใส่คำที่สะกดผิดนั้น มันก็มีอีกเทคนิคครับ เช่น คำว่า “Game” นั้นต้องสะกดว่า “เกม” แต่ก็จะมีคนสะกดด้วยคำว่า “เกมส์” ซึ่งจริง ๆ แล้วเราใส่แค่คำว่า “เกม” ก็เพียงพอแล้วครับ เนื่องจากโปรแกรมจะไปเก็บข้อมูลมาให้ครอบคลุมทั้งที่สะกดด้วย ส์ กับ ไม่มี ส์ 


อีกเทคนิคที่อาจจะเรียกว่าเป็นข้อควรระวังก็ได้ครับซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเท่าไหร่นัก โดยบางครั้งเราอาจจะหาแค่ข้อมูลจากคำ ๆ หนึ่ง แต่ด้วยคำ ๆ นั้นมันเป็นส่วนประกอบหรือส่วนผสมของอีกคำหนึ่งซึ่งเราไม่ได้ต้องการนำมาใช้ในการทำงานเลย โอกาสเหล่านี้ก็อาจจะมีติดมาได้บ้างเช่นเดียวกันครับ เช่น คำว่า “รถติด” ก็อาจจะดูธรรมดาไม่มีอะไรน่ากังวล แต่กรณีนี้ข้อมูลที่มีโอกาสเข้ามาคือ “สามารถติดต่อ” สังเกตที่ผมขีดเส้นใต้นะครับ คำที่ขีดไว้มันก็คือคำว่ารถติดที่เราต้องการค้นหาแต่แรกนั่นเอง โอกาสเช่นนี้แก้ไขด้วยการระบุ Keyword ที่ผมได้กล่าวไปแล้วครับคือ ไม่ + เพื่อให้เฉพาะเจาะจง ก็ต้อง Exclude ออกนั่นเอง



สรุปการตั้ง Keyword ใน Social Listening Tool



การใส่ Keyword ลงไปใน Social Listening Tool ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวที่นักการตลาดออนไลน์ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยส่วนตัวของผมเชื่อว่าการให้ได้มาซึ่ง Keyword ที่ชัดเจนต่อการนำข้อมูลไปใช้นั้นนอกจากจะมาจากวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝนและการลงไปคลุกคลีกับข้อมูลให้บ่อย เพื่อให้เราคุ้นชินกับลักษณะของข้อมูล ความเป็นไปได้ต่าง ๆ แล้วเราจะสนุกกับการใช้ Social Listening Tool ครับ


ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้นะครับ ครั้งหน้าทางทีม Mandala AIจะมีสาระอะไรดี ๆ มานำเสนออีก อยากให้คอยติดตามกันต่อไปครับ


หากผู้อ่านท่านใดสนใจ Mandala Analytics สามารถสมัครทดลองใช้ฟรี 15 วันได้ที่นี่



Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends