Blogs & Articles

กินชาบูช่วงสิ้นเดือนด้วยเราชนะ เรารักกัน และคนละครึ่ง: หาร้านเด็ดร้านโดนด้วย Social Listening Tool

social listening tools

สิ้นเดือนก็เหมือนสิ้นใจครับบางคนที่เงินเดือนออก 25 ก็แสดงความยินดีด้วยครับ แต่ผมนั้นออกอีกทีสิ้นเดือนเลย แต่จะให้กินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนกว่าเงินเดือนจะออกก็ดูไม่ดีนัก ไถหน้าโซเชียลไปมาก็เจอแต่คนไปกินชาบู หมูกระทะ จิ้มจุ่ม ยั่วน้ำลายกันไปอีก ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วเงินเรารักกันเข้าพอดี ขอกินชาบูซักมื้อรอเงินเดือนเข้ากันดีกว่าครับ แต่จะให้เดินดุ่ม ๆ ไปกินเลยคงไม่สมศักดิ์ศรี Mandala Analytics Team วันนี้ผมจึงขอนำเสนอร้านชาบูร้านเด็ดที่รับโครงการเราชนะ เรารักกัน และคนละครึ่ง ด้วย Social Listening Tool มาดูกันครับว่ามีร้านไหนบ้าง และแต่ละร้านมีทีเด็ดอยู่ที่อะไร 


หัวใจสำคัญของ Social Listening Tool คือคีย์เวิร์ด


ผมมีคนรู้จักหลายคนที่หันมาให้ความสนใจและใช้ Social Listening Tool กับองค์กรหรือธุรกิจของตนเองมากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่ผมมักจะถูกร้องขอให้ช่วยเหลือเสมอคือ “การคิดคีย์เวิร์ด” ครับ บ่อยครั้งหลายคนมักคิดไม่ออก ไม่มีไอเดีย หรือกระทั่งใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปมั่ว ๆ ทำให้ข้อมูลที่ออกมากว้างเกินไป เละเทะเกินไป หรือกระทั่งไม่สามารถใช้งานได้เลย ในบทความนี้ผมจะมาสอนเทคนิคนี้อีกครั้งครับ


การคิดคีย์เวิร์ดนั้นหลัก ๆ เราสามารถทำได้ 3 วิธีครับ



1. สนใจประเด็นใดก็ใส่ไปตรง ๆ เลย: วิธีนี้พูดอีกแบบก็คือคิดเอาเองเลยครับอย่างในบทความนี้ผมสนใจร้านชาบูที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ ได้แก่ เราชนะ, เรารักกัน, คนละครึ่ง ผมก็ใส่คำว่า “ชาบู” + โครงการรัฐต่าง ๆ รวมถึงผมก็คิดไปอีกว่าในความเป็นจริงอาจจะมีคนพิมพ์คำว่าชาบูเป็นภาษาอังกฤษด้วย ผมเลยเผื่อภาษาอังกฤษเข้าไป ตามตัวอย่างจากภาพที่ผมยกมาเลยครับ ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่ผมนำมาวิเคราะห์ในบทความนี้ด้วย นอกจากนี้ บางองค์กรหรือบริษัทที่มีการทำการตลาดออนไลน์ สามารถใส่แฮชแท๊ก (#) หรือคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญ กิจกรรม หรืออีเว้นท์ ก็ได้เช่นเดียวกันครับ



2. Google Trends: วิธีนี้เป็นการดูกระแสในภาพรวมของประเด็นที่เราสนใจ โดยผลที่ได้จาก Google Trends นั้นเราสามารถนำมาประยุกต์ในการคิดคีย์เวิร์ดของเราได้ครับ จากภาพเราจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาคนสนใจชาบูแค่บางแบรนด์เท่านั้น หากนักการตลาดออนไลน์ต้องการดูว่าทำไมแบรนด์ดังกล่าวถึงได้รับความนิยมก็สามารถใส่ชื่อแบรนด์เหล่านี้ลงใน Social Listening Tool ได้เลย



3. โปรแกรมคิดคีย์เวิร์ดรายอื่น: โปรแกรมประเภทนี้จะมีลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกับ Google Trends ครับ แต่ถ้าเราเสียเงินให้กับโปรแกรมพวกนี้มันจะบอกรายละเอียดที่ดีกว่าครับ อย่างที่ผมใช้บ่อย ๆ คือ Keywordtool.io ครับ ตามภาพประกอบที่ผมยกมา ซึ่งเราสามารถนำไอเดียมาปรับใช้ได้เช่นเดียวกันครับ เช่น เราจะสังเกตเห็น “ชาบู ซูชิ ใกล้ฉัน” แสดงว่าผู้บริโภคมองหาร้านชาบูที่ต้องมีเมนูทานเล่นอย่างซูชิด้วย ฉะนั้น คีย์เวิร์ดที่ใส่จึงควรเป็น “ชาบู+ซูชิ” ครับ


อธิบายไปเสียยืดยาวเลยแต่ผมคาดหวังว่าผู้อ่านจะได้ไอเดียในการคิดคีย์เวิร์ดนะครับ เพื่อความสนุกสนานในการใช้ Social Listening Tool 


สรุป ในบทความนี้ผมคิดคีย์เวิร์ดตามข้อที่ 1 ครับ โดยตั้ง timeframe ไว้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 25 มีนาคม 2564 ครับ มาดูกันว่ามี insight อะไรที่น่าสนใจ แล้วเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้สามารถจุดประกายไอเดียให้กับนักการตลาดออนไลน์ได้อย่างไรบ้าง


ร้านชาบูยอดฮิตที่รับโครงการรัฐ


บทวิเคราะห์ส่วนนี้ผมจะพิจารณาจากค่า engagement เป็นหลักครับ มาดูกันว่ามีร้านอะไรบ้าง


ที่มา: https://www.facebook.com/276264589593691/posts/815991758954302/


1. ร้านชาบูหมูหก: ร้านนี้ตั้งอยู่ที่หน้าโครงการ The One Place จังหวัดเชียงใหม่ครับ จุดเด่นของร้านนี้นอกจากจะราคาไม่แพงแล้วนั้นยังอยู่ที่ความหลากหลายของเมนูอาหาร ปกติเราจะเห็นร้านชาบูที่เน้นไปที่เนื้อแดงใช่ไหมครับไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อวัว แต่ร้านนี้ยังเอาใจสายสุขภาพด้วยบุฟเฟต์เนื้อปลา ตัดด้วยน้ำซุปและน้ำจิ้มสูตรเด็ดของร้าน การันตีด้วยยอด engagement กว่า 10,481 ใครที่อยู่เชียงใหม่ตามไปใช้สิทธิได้เลยครับ


ที่มา: https://www.facebook.com/369544679790844/posts/3803815046363773/


2. ร้านโคโดะชาบู: มาถึงอันดับสองของเราด้วยยอด engagement ที่ 8,063 ร้านนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชครับ สังเกตจากภาพเลยครับว่าร้านนี้เด่นที่เนื้อวัวอย่างแน่นอนแถมผมยังไล่อ่านความเห็นพบว่า ยิ่งทานคู่กับน้ำดำสูตรเด็ดของทางร้านยิ่งเข้ากันเป็นอย่างดี ใครอยู่โคราชมาลิ้มลองได้เลยครับ ร้านตั้งอยู่ในซอยไนท์บ้านเกาะ หรือเข้าลิงค์ที่แนบมาไว้ให้ได้เลยครับ


ที่มา: https://www.facebook.com/192275837473508/posts/4098695463498173/


3. ร้านชิมิชาบู: เข้าเมืองนั่ง BTS เอาใจคนเส้นรถไฟฟ้าบ้างครับกับร้านชิมิชาบู ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ซอยประดิพัทธ์ 19 สามารถลง BTS สะพานควายแล้วต่อรถแท๊คซี่หรือจะเดินก็ได้ครับ จุดเด่นของร้านนี้ไม่ได้มีแค่ชาบูเท่านั้นแต่ยังมีปิ้งย่างให้เลือกอีกด้วย พร้อมสารพัดเมนูทานเล่น ของหวานตบท้าย คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกับราคาที่จ่ายไปครับ กำบัตรโดยสารให้แน่นแล้วมาสัมผัสด้วยตัวคุณเองได้เลยครับ กับร้านชิมิชาบูอันดับสามของเราด้วยยอด engagement ที่ 6,349


ที่มา: https://www.facebook.com/1198893173592083/posts/1906134969534563/


4. ร้านชาบูเฮเว่นสาขาหาดใหญ่: อันดับที่สี่ของเรามีค่า engagement ไม่แพ้กันอยู่ที่ 6,289 ร้านนี้ตั้งอยู่หลังโรงเรียนแสงทอง หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาครับ ความน่ารักของร้านนี้นอกจากจะรับโครงการต่าง ๆ แล้วยังมีราคาพิเศษสำหรับนักเรียน/นิสิต/นักศึกษาอีกด้วย พ่วงด้วยความหลากหลายของเมนูอาหารทั้งต้มและย่าง เนื้อขนาดกำลังดี ชาวใหญ่เดินทางไปลิ้มลองได้ตามลิงค์ที่แปะไว้ได้เลยครับ


ที่มา: https://www.facebook.com/100126275224328/posts/184579926778962/


5. ร้านแคมปิ้งหมูกระทะ&ชาบู: ผมคิดว่าเทรนด์ที่กำลังฮิตปัจจุบันคือ กางเต้นท์กลางป่าเขาแล้วทำหมูกระทะทาน แต่ผมก็เชื่อครับว่าน้อยคนนักจะหาโอกาสวันและเวลาเหมาะ ๆ ไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเช่นนั้นได้ ร้านสุดท้ายของเราจะช่วยเติมเต็มความต้องการนั้นได้แถมไม่ต้องขับรถไปไกลด้วย ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ถนนไชยานุภาพ ซอย 3 จังหวัดพิษณุโลก จุดเด่นของร้านนี้อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วครับ แต่ใช่ว่าจะมีดีแค่นั้นด้วยราคาเริ่มต้นที่ถูกแสนถูกแต่การันตรีความคุ้มค่าคุ้มราคา แม้จะอยู่อันดับที่ห้าของบทความนี้ แต่ค่า engagement ก็ไม่น้อยหน้า อยู่ที่ 6,003 ตามไปสัมผัสความอร่อยท่ามกลางบรรยากาศดี ๆ ได้ตามลิงค์ที่ผมแปะไว้ให้เลยครับ


ไม่ใช่แค่ร่วมเราชนะแล้วจะทำให้ร้านน่าสน


แม้ทุกร้านที่ผมนำมาเสนอจะเป็น Top 5 ของร้านชาบูที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเราชนะ เรารักกัน หรือกระทั่งคนละครึ่งก็ตาม และในความเป็นจริงยังมีร้านชาบูอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อผมพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ สามารถสกัดออกมาเป็นบทเรียนให้กับการทำการตลาดออนไลน์ได้ครับว่า ทำไม 5 ร้านเหล่านี้ที่มีทำเลที่ตั้งกระจัดกระจายทั่วประเทศไทย ถึงได้รับค่า engagement สูงที่สุด 


1. ความหลากหลาย: ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จอยู่ที่ความหลากหลายของร้านไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของเมนูอาหารจานหลัก เช่น เนื้อประเภทต่าง ๆ หรือกระทั่งความหลากหลายของเมนูทานเล่น เช่น 

ซูชิ บะหมี่เย็น ฯลฯ ตลอดจน ความหลากหลายของประเภทในการประกอบอาหารที่ทำให้ลูกค้าสามารถกลับมาใช้บริการได้ซ้ำ ๆ เช่น วันนี้ลองแบบต้มไปแล้ว วันหน้าอาจจะมาลองแบบปิ้งย่าง 


2. ชูจุดเด่น: สิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าจดจำร้านเราได้ต้องมาจากจุดเด่นของร้านที่ทำให้ลูกค้าอยากกลับมากินอีก เช่น จุดเด่นของเนื้อที่ใช้ จุดเด่นของบรรยากาศ 


3. ความคุ้มค่า: ปัจจุบันมีร้านชาบูเปิดใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าเลือกแต่ละร้านมาจากความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่จ่ายไป 


4. เข้าถึงคนทุกกลุ่ม: แม้ชาบูจะเป็นอาหารที่กินง่าย และน่าจะถูกปากทุกเพศทุกวัย แต่ประเด็นที่ผมกำลังจะสื่อคือ ราคาที่โอบรับให้คนทุกกลุ่มสามารถมาใช้บริการได้โดยไม่รู้สึกว่าแพงจนเกินไป ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ราคาพิเศษสำหรับวัยที่ยังไม่มีรายได้ด้วยตนเอง



5. น้ำดำขาดไม่ได้: จากภาพที่ผมแสดงให้ดูโดยผมพิจารณาร่วมจากข้อมูลที่ได้จาก Keywordtool.io จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ชาบูน้ำซุปใสเท่านั้นอีกต่อไป เพราะความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคแสวงหาชาบูน้ำดำที่ต้องทานคู่กับไข่ดิบ เราจะเห็นว่า Top 5 ของร้านที่ผมนำเสนอมาแทบทุกร้านมีบริการน้ำดำ จึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ได้รับ engagement มากกว่าร้านอื่นครับ


สรุป การใช้ Social Listening Tool กับการหาร้านชาบู


บทความนี้ผมพยายามเอาเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวมาขยายให้เห็นความสำคัญของ Social Listening Tool ว่า หากเราจับจุดดี ๆ เราสามารถใช้มันได้หลากหลายแง่มุม หลากหลายอุตสาหกรรม ข้อคิดส่วนตัวที่ผมได้จากการหา insight ครั้งนี้คือ ผมเจอร้านชาบูที่ไม่คุ้นเคยเต็มไปหมดจากแต่ก่อนที่ผมมีชื่อของร้านชาบูเพียงไม่กี่แบรนด์ ความน่ากลัวคือ ยิ่งร้านชาบูเกิดใหม่มากขึ้นเท่าไหร่ผู้บริโภคยิ่งคาดหวังกับร้านชาบูมากขึ้นเท่านั้น ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ เป็นโจทย์ที่ผมอยากทิ้งทวนให้นักการตลาดออนไลน์ทุกท่านครับว่า เราจะดึงฐานลูกค้าของเราให้อยู่หมัดอย่างไร ท่ามกลางตัวเลือกอันมหาศาลให้กับผู้บริโภค


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย แล้วพบกันในบทความถัดไปครับ



อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.mandalasystem.com/blog

Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends