10 เทคโนโลยีที่ บิล เกตส์ พูดถึง

10 เทคโนโลยีที่ บิล เกตส์ พูดถึง

    มีหนึ่งบทความที่น่าสนใจมาก ๆ ที่อยากจะมาแชร์ให้อ่านกันครับ บทความนี้ชือว่า How we’ll invent the future จาก technologyreview.com ผู้เขียนคือ บิล เกตส์ ซึ่งในบทความนี้เล่าถึง 10 เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาโลกของเราให้ดีขึ้นครับ มาดูกันครับว่า 10 เทคโนโลยีที่ บิล เกตส์ พูดถึงนั้นมีอะไรกันบ้าง


1. ความชำนาญของหุ่นยนต์ (Robot dexterity):

ในตอนนี้หุ่นยนต์สามารถทำงานที่ซ้ำ ๆ ได้แม่นยำและรวดเร็วมาก (งานประเภทสายพานในโรงงาน) แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการทำงานได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น หากมีคนไปขยับเขยื้อนสิ่งของที่หุ่นยนต์กำลังจับอยู่เพียงหนึ่งนิ้ว ก็อาจจะทำให้มันไม่สามารถทำงานต่อไปได้

คือหุ่นยนต์ยังไม่มีความสามารถในการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง (trial and error) แต่ในอนาคตหากเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ เราอาจจะได้เห็นหุ่นยนต์สามารถทำงานที่ดูง่าย ๆ แต่ซับซ้อนอย่างการล้างจาน (ซับซ้อนสำหรับหุ่นยนต์) หรือแม้กระทั่งงานที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษอย่างการดูแลผู้ป่วย

2. พลังงานนิวเคลียร์แบบใหม่ (New-wave nuclear power)

ตอนนี้พลังงานนิวเคลียร์ได้พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ แบบฟิซชั่น (Fission) มาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งน่าจะได้ใช้กันในปี 2020 ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานที่ถูก และปลอดภัยกว่าเดิม

แต่ที่มนุษยชาติรอคอยคือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แบบฟิวชั่น (fusion – ปลอดภัยกว่า ของเสียน้อยกว่า) ซึ่งน่าจะได้ใช้ในปี 2030 ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ฟิวชั่น คงเป็นคำตอบเรื่องพลังงานสำหรับมนุษยชาติในอนาค


3. การคาดการณ์การคลอดก่อนกำหนด (Predicting preemies)

การคลอดก่อนกำหนดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตรายและเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีโอกาสเสียชีวิตได้ หรือมีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของเด็กได้ ที่ผ่านมากระบวนการที่จะคาดการณ์การคลอดก่อนกำหนดนั้นวุ่นวายมาก และมีราคาแพง

แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีการใหม่ที่ง่ายและราคาถูกลงมาก ด้วยการตรวจ DNA และ RNA ซึ่งราคาของเทคโนโลยีนจะอยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญ

4. เทคโนโลยีการส่องกล้อง (Gut probe in a pill)

การส่องกล้องในปัจจุบันนั้นค่อนข้างวุ่นวาย ซึ่งโดยปกติคุณหมอจะให้ส่องก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และที่สำคัญยังใช้ไม่ได้กับเด็กทารกหรือเด็กตัวเล็ก ๆ เพราะต้องวางยาสลบ

แต่มีโรคชนิดหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการส่องกล้องหรือตรวจอย่างสม่ำเสมอนั้นคือ โรค EED (Environmental enteric dysfunction) เป็นโรคที่ทำให้ลำไส้อักเสบ ส่งผลให้ไม่สามารถดึงโภชนาการจากอาหารที่กินเข้าไปได้ ซึ่งโรคนี้พบมากในประเทศที่ยากจน

แต่ EED นั้นสามารถลดอาการของความรุนแรงได้หากรู้ก่อน แต่การตรวจรักษาตามพื้นที่ห่างไกลที่เป็นหน่วยพยาบาลเล็ก ๆ ยังคงทำได้ยากอยู่มาก

Guillermo J. Tearney จาก Massachusetts General Hospital จึงได้คิดค้นและสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ๆ เท่ากับขนาดแคปซูลของยาสามารถกลืนเข้าไปได้เลย (แต่มีสาย) ซึ่งแคปซูลนี้ก็จะทำหน้าที่ส่องกล้อง และยังสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาเพื่อตรวจสอบต่อได้ด้วย

ทำให้การตรวจรักษาโรค EED นั้นสามารถทำได้ในพื้นที่ห่างไกลหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ และมีราคาถูกขึ้น และแคปซูลจิ๋วนี้ก็ยังถูกพัฒนาต่อเพื่อให้ใช้ได้ในเด็กทารกอีกด้วย

5. วัคซีนมะเร็งที่ไม่ทำลายเซลล์ที่ดี (Custom cancer vaccines)

เป็นที่รู้กันว่าการทำคีโม นั้นจะไปทำลายเซลล์ที่ดีด้วย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงที่ตามมาหลายอย่าง ในปี 2003 ก็มีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ทางการแพทย์ และวงการไบโอเทค ก็คือการที่เราสามารถทำแผนที่จีโนมมนุษย์ (human genome mapping) ในโครงการที่ชื่อว่า Human Genome Project

สิ่งที่เกิดขึ้น 5 ปีหลังจากนั้นก็คือนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสามารถที่จะลำดับ (sequence) เซลล์ที่เป็นเนื้อร้ายของมะเร็งได้ รวมถึงพบว่าหากเทียบกับเซลล์ที่สุขภาพดี จะเห็นได้ว่ามีเซลล์ที่แตกต่างกันเยอะมาก และทุกชิ้นของเนื้อร้ายของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันด้วย

มีบริษัทแห่งหนึ่งในเยอรมันที่ชื่อ BioNTech บอกว่าเราสามารถทำวัคซีนเข้าไปสู้กับเนื้อร้ายเหล่านี้ได้ วิธีการคือให้ทีเซลล์ (เซลล์ภูมิคุ้มกัน) หาและทำลายเซลล์เนื้อร้ายนั้น

ในปี 2017 เดือนธันวาคม ก็มีการทดลองจริง และได้ผลการทดลองเป็นอย่างดี หากกระบวนการนี้ถูกนำมาใช้จริงได้เมื่อไหร่ ก็จะทำให้เราไม่ต้องทำลายเซลล์ที่ดีระหว่างการรักษา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่เป็นเรื่องท้าทาย เพราะการรักษานั้นจะต้องใช้ตัวอย่างเนื้อร้ายจากของแต่ละคน และกระบวนการในการลำดับเซลล์ (sequence) นั้นยังมีราคาที่สูงอยู่มาก


6. เนื้อสัตว์ที่เกิดการเพาะเลี้ยงเซลล์ (The cow-free burger)

สหประชาชาติคาดการณ์กันว่าในปี 2050 จะมีประชากรโลกประมาณ 9.8 พันล้านคน และคนก็จะบริโภคเนื้อสัตว์เยอะขึ้น อาจจะเนื่องจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จะทำให้คนบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น 70% จากที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้

แต่แม้ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีประสิทธิภาพก็ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากอยู่ดี อย่างเช่นโปรตีนที่มาจากสัตว์จะใช้น้ำมากกว่าพืช ถึง 4-25 เท่า ใช้พื้นที่มากกว่า 6-17 เท่า และใช้พลังงานจากฟอสซิลมากกว่า 6-20 เท่า

การจะให้คนหยุดกินเนื้อคงจะเป็นไปได้ยาก ตอนนี้ก็เลยมีการทำ lab-grown ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ 1.) ทำมาจากกล้ามเนื้อของสัตว์จริง เวอร์ชั่น lab-grown รสชาติที่ได้ในตอนนี้ค่อนข้างใกล้เคียงของจริงมาก คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ในปีหน้า แต่ประเด็นคือ lab-grown ก็ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร่นัก