Blogs & Articles

วิเคราะห์ข้อมูล Data Analytics ตามกระแส

social listening tools

วิเคราะห์ข้อมูลอาจไม่ใช่เรื่องน่าสนุกสำหรับคนทำงานที่ต้องอยู่กับเนื้อหา สารสนเทศ อยู่ตลอดเวลา แต่พอนำเรื่องของการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Social Media นำมาวิเคราะห์ในรูปแบบ Data analytics เพื่อใช้ทางการตลาด บางอย่างกลับเป็นเรื่องน่าสนุกทีเดียว


ด้วยสาเหตุที่ ได้รับเกียรติจากทางเพลตฟอร์ม Mandala Analytics ให้ทดลองใช้เครื่องมือ (ที่เป็นรูปแบบของ Social Listening) มาแล้วระยะหนึ่ง จริงๆแล้วก็ได้มีการเขียนบทความเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยการใช้เครื่องมือนี้ไปบ้างแล้ว ในหัวข้อ "Data Analytics คือ อะไร?"


มีอะไรบางอย่างดลใจ ให้ทำบทความนี้ออกมา เพื่อตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง ในเรื่องของกระแสฮิตของขนมที่พวกเราน่าจะรู้จักมาแล้วอย่างยาวนาน อย่าง “ครัวซอง” 


*** ขออธิบายสาเหตุ ของการเขียนคำว่า ครัวซอง แบบนี้ เพราะ

1. ครัวซองต์ เป็น คำที่คนนิยมเขียน

2. ครัวซ็อง เป็น คำที่น่าจะเขียนได้ถูกรูปแบบ

แต่ 3. ครัวซอง เป็นคำที่คนใช้ในการค้นหามากที่สุด ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ คนอ่าน ขอเลือกข้อนี้แล้วกัน 


เป็นที่น่าสังเกต ว่ามีคนพูดถึงขนม ครัวซอง กันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ประมาณช่วงปลาย ปี 2563 จนถึงตอนนี้ ก็เลยนึกได้ว่า น่าจะลองใช้เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูล ว่าดูเกิดอะไรขึ้นกับตลาดขนมที่ทำให้เจ้าขนมอย่าง ครัวซอง กลับมาเป็นที่ฮือฮากันอีกครั้ง เรามาลองเริ่ม ตามกระแส และ วิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน


เริ่มจาก การใช้เครื่องมือง่ายๆ ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า Google Trends ในการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน ว่า ความฮิตของครัวซอง เริ่มมีจุดพีคขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วจะได้นำประโยชน์ของข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาดต่อไป

วิเคราะห์ข้อมูล

จากข้อมูล ย้อนหลัง 5 ปี ครัวซอง มีกระแส ขึ้นขึ้นลงลง แบบปรกติ อาจจะมีบางช่วงที่มีคนสนใจมากหน่อย เป็นระยะๆตลอดมา จนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ ความฮิต เริ่มพุ่งทะยานสูงขึ้น เมื่อช่วง กันยายน 2563 และ มีกระแสมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเป็นลักษณะนี้ เราก็ต้องตามกระแสกันต่อ ว่า เกิดอะไรขึ้นบนโลกออนไลน์ ทำไมถึงเป็นเทรนด์ ครัวซอง ถึงพีคอย่างผิดหูผิดตา


จากข้อมูลส่วนนี้ เราสามารถนำไปวิเคราะห์ง่ายๆ ด้วยเครื่องมือที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกัน นั่นคือ Google Search โดยนำช่วงเวลา (ที่น่าจะเกิดกระแสความนิยม) ไปค้นหาในกูเกิ้ล อีกครั้งหนึ่ง แต่ระบุช่วงเวลาในการค้นหาด้วย ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลกระแสฮิตของครัวซอง 


ตามกระแส

โดยปกติแล้ว นักการตลาดออนไลน์ บางคนหรือ นักวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนใหญ่จะพุ่งตรงไปยังเครื่องมืออันหลากหลาย ที่ใช้ในการดูข้อมูลบนโลกออนไลน์ แต่บ่อยครั้งที่เครื่องมือเหล่านั้น มักจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

วิเคราะห์ข้อมูลตามช่วงเวลา

แต่ในเบื้องต้นแล้ว เราสามารถใช้ Search Engine อย่าง Google ในการค้นหาข้อมูลเชิงลึก ตามช่วงเวลาได้ แบบที่ทุกคนอาจจะมองข้ามไป เพราะเจ้าเครื่องมือในการระบุช่วงเวลาในการค้นหาของ Google นั้น ค่อนข้างจะหายากทีเดียว มันดันไปแฝงอยู่ในเมนู "เครื่องมือ" ใต้ของช่องการค้นหา 


 data analytics

จากผลลัพธ์ในการค้นหา คำว่า ครัวซอง โดยระบุช่วงเวลา ตามกระแสข้อมูลที่เราได้จาก Google Trends ในที่นี้ลองใส่เป็น ช่วง 30 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563 ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูล เหล่านี้ เราคงต้องอาศัยความอึดถึกในการเลือกดูข้อมูลและสรุปผลเอาจากผลลัพธ์ของ Google ที่เห็น ๆ กันอยู่นี้


มันอาจจะต้องใช้เวลามากพอตัวเลยทีเดียว แต่ถ้าลองมองกันอย่างคร่าวๆ ผลลัพธ์ (ที่ระบุช่วงเวลา) พบว่ามีการพูดถึง ครัวซอง เทพ , ครัวซอง เจมส์ และ ครัวซอง พรานนก อยู่บ่อยครั้งในระยะเวลา ดังกล่าว และก็ยังมีอีกหลายๆแบรนด์ปะปนกัน รวมทั้ง วิธีการทำครัวซอง ถูกปรากฏเป็นผลลัพธ์ใน Google ให้ได้เห็น 


นี่คือหนึ่งในจุดอ่อนของข้อมูลที่เราได้รับจากผลลัพธ์ของกูเกิ้ล คือ มันมีปริมาณมากและไม่มีการจัดลำดับ แบ่งหมวดหมู่ สรุปผล ตามที่เราต้องการ อย่างเช่น ถ้าเราอยากจะรู้คำตอบที่ว่า แบรนด์ไหนที่มีการพูดถึงมากที่สุด? (ในเรื่องของครัวซอง ตามช่วงระยะเวลาที่เราระบุนี้) อาจจะตอบได้ยาก ต้องนำข้อมูลที่ปรากฏเป็นผลลัพธ์มากลั่นกรองกันเอาเองอีกที 


 อีกอย่าง *** กราฟที่ปรากฎใน Google Trends ไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง แต่เป็นคะแนน (Scores) ความเป็นกระแสตามช่วงเวลา ดังนั้นจึงสามารถใช้ดูเป็นภาพรวมได้เท่านั้น


เอาล่ะ! ดังนั้น ก็มาถึงพระเอกของบทความที่เราจะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Data analytics เพื่อตอบโจทย์ว่าทำไมครัวซองถึงกลับมาเริ่มฮิตอีกครั้ง


สำหรับ เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Social Listening tools อย่าง Mandala Analytics จะมีอยู่ 2 หมวด ที่เราสามารถนำมาพิจารณาประกอบการเรียนรู้กรณีศึกษาในเรื่องนี้ นั่นคือ แบบ mention (การกล่าวถึง) และ แบบ engagement (การมีส่วนร่วม)

mentions analytics

ในมุมมอง รูปแบบ ของการดูเมนชั่น (Mention) จะพบว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงช่วงต้นเดือนกันยายน 2563 มีการกล่าวถึง ครัวซอง เป็นระยะๆมาตลอด และ มีกระแสพูดถึงมากขึ้นในบางช่วงด้วยซ้ำไป แต่ประมาณกลางเดือนกันยายนจนถึงช่วงปลายพฤศจิกายนในปีเดียวกันนี้ กลับมีการพูดถึงน้อยมากในเกือบทุก ๆ ช่องทางออนไลน์

 วิเคราะห์ mentions-gap

เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด และ แบ่งกระแสต่างๆ ใน การกล่าวถึง (Mentions) ครัวซองออกเป็นช่วงๆ จะพบว่าก่อนหน้านี้ครัวซองมีกระแสมาเรื่อยๆ และ เงียบหายไปประมาณ 1-2 เดือน จนกลับมาเริ่มมีกระแสอีกครั้งในช่วง ต้นเดือนธันวาคม ซึ่งในลักษณะนี้ ก็ค่อนข้างจะตรงกับความรู้สึกและการรับรู้ของผมว่า ครัวซอง เริ่มมีกระแสมาก ๆ ในช่วงนั้นพอดี


ทีนี้เรามาลองวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกแบบ Data Analytics ดูว่า มีใครบ้างที่เป็นคนจุดกระแสฮิต ครัวซอง ขึ้นมา โดย Mandala Analytics สามารถดู Top Mentions ที่บอกว่าในแต่ละเพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ โซเชี่ยลมีเดีย ใครคนไหน หรือ เพจไหน ที่กล่าวถึง “ครัวซอง” แล้วเป็นกระแสมากที่สุด และ สามารถบอกวันที่แบบเจาะจงได้ด้วยว่าโพสต์หรือคอนเทนต์นั้นเกิดขึ้นวันไหน

 วิเคราะห์ data

(จากรูปด้านบนนี้) ใน Facebook เพจ “ล้างตู้เย็น” เป็น Top Mentions ได้มีการรีวิว 10 ครัวซองเจ้าดังที่ฮิตที่สุด เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงช่วงต้นๆเดือน ธันวาคม พอดี ส่วน Twitter และ YouTube ก็มี Top Mentions ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ใน Instagram กระโดดไปไกลถึงประมาณกันยายน 2563 นู้นเลย


จากนั้นเมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือดีๆนี้ การเห็นภาพรวมด้านการตลาด และ การพูดถึงของกระแส ครัวซอง ก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น ดูได้ง่ายขึ้น แถมยังสามารถคิดต่อยอดได้หลากหลายจากข้อมูลที่เราได้รับมานี้ 


เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเครื่องมือในการสอดส่องเรื่องราวในโลกโซเชียล แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบ Data Analytics อย่าง Mandala Analytics ตัวนี้ ยังสามารถดูได้อีก 1 รูปที่ได้เล่าไปข้างต้น นั่นคือ ดูว่าโพสต์หรือคอนเทนต์ไหน ที่มีคนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุดในแต่ละช่องทางออนไลน์


*** คำว่า มีส่วนร่วม (Engagements) มากที่สุด หมายรวมไปถึง การกระทำทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นต่อโพสต์หรือคอนเทนต์นั้น เช่น การกดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ กดหัวใจ ยอดวิวและ อื่นๆ …

 

วิเคราะห์ engagement

เมื่อดูจากกราฟ (ในรูปแบบของการมีส่วนร่วม engagements) จะเห็นจุดที่พิเศษที่สุดเกิดขึ้น สามารถเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มอย่าง YouTube ทำให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมสูงสุด เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องครัวซองที่เรากำลังตามกระแสอยู่นี้ และ ด้วยการอำนวยความสะดวกของเครื่องมือนี้ ง่ายที่สุด คือ จิ้มลงไปที่จุดสูงสุดในกราฟเพื่อให้ ระบบพาไปดูว่า คลิปไหน หรือ วีดีโอไหน ที่พีคที่สุดที่กราฟแสดงอยู่


วิเคราะห์ ข้อมูล engagement

เมื่อลองกดเข้าไปดู พบว่าเป็น คลิปวิดีโอ จากช่อง BoomTharis ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้สูงสุดถึง 266,047 Engagement และ คลิปนี้ถูกโพสต์ในวันที่ 23 ธันวาคม 2563


นอกจากเราจะดูกระแสที่มี คนในโลกออนไลน์เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดแล้ว เรายังสามารถแยกย่อยไปดูตาม โซเชี่ยลมีเดียอื่นๆได้อีก อย่างเช่น Twitter Instagram และ Facebook มาลองเข้าไปดูว่า มีอะไรเกิดขึ้นและได้รับการมีส่วนร่วมสูงสุดในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยอดนิยมของคนไทย นั่นคือ Facebook และผลที่ปรากฏก็เป็นดังนี้


วิเคราะห์ top engagement

เพจ ล้างตู้เย็น ที่ได้มีการแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับการ รีวิว 10 ครัวซองเจ้าดังยอดฮิต โดยได้รับการมีส่วนร่วมสูงถึง 40,000 Engagement


สรุป เป็นภาพรวมเพื่อเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระแสฮิต ครัวซอง อาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ มีกระแสพูดถึงครัวซองมาบ้างแล้วประปราย โดยเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เรื่อยมา


แต่ จุดเริ่มต้นของกระแส ที่ทำให้ ครัวซอง เริ่มมาฮิตจนพูดถึงกันไปทั่วนั้น เป็นเพราะ นักสร้างคอนเทนต์ (Content Creator) หรือ เจ้าของเพจดัง ได้มีการทำเนื้อหาแนว “รีวิว” และรีวิวครัวซอง หลาย ๆ เจ้า จนเกิดเป็นกระแสขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม


นี่อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบตายตัว ในเรื่องของการตามกระแสฮิต ครัวซอง แต่อาจจะทำให้ใครหลายๆคนได้เห็นว่า  การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม สามารถสร้างประโยชน์ทางด้านการทำธุรกิจ การตลาด ได้ในหลาย ๆ มิติ และที่สำคัญที่สุดมันน่าสนุกมากกว่าการแก้โจทย์ที่เป็นตัวเลขมากมายซะด้วยซ้ำ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณธิติพล เทียมจันทร์ (อาจารย์แชมป์) เจ้าของเว็บไซต์ และเพจการตลาดออนไลน์ Branding Champ

Mandala Team

Creator

Share this post

Search the blog

Mandala Newsletter

Sign-up to receive the latest insights in to online trends